ปรัชญาทางสายกลาง

ปรัชญาทางสายกลาง

    วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของจีนกว้างขวางและลึกซึ้งนัก “ทางสายกลาง” เป็นแนวคิดด้านวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของจีนที่สืบทอดกันมา มีความหมายครอบคลุมทางปรัชญา การปฏิบัติตัวเข้าสังคมของคนจีนเน้น “ความปรองดองเป็นสิ่งสำคัญ” การทำธุรกิจแสวงหา “อัธยาศัยไมตรีต่อกันจึงจะมีลาภผล” การจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ลืม “ความปรองดองก่อเกิดความเจริญรุ่งเรือง” หลักการในการปกครองประเทศคือการสร้าง “สังคมที่กลมเกลียว”

    แนวความคิดทางสายกลางนี้ขงจื๊อเป็นผู้ริเริ่มเสนอขึ้นมา ต่อมาหลานชายของขงจื๊อชื่อจื่อซือ (หรือขงจี๋) เกรงว่าแนวคิดนี้จะสาบสูญไป จึงได้เขียนหนังสือ “ทางสายกลาง” ขึ้น เนื้อหาสำคัญของแนวคิดนี้คือ แนะให้คนเรารู้จักอบรมบ่มสอนตนเอง ดูแลควบคุมตนเอง ปลูกฝังนิสัยตนเองให้เพียบพร้อมด้วยความดีงาม มีเมตตาธรรม สัจธรรม ศีลธรรมและจริยธรรม เพื่อร่วมสร้างสรรค์อาณาจักรแห่ง “สันติสุขอันกลมเกลียว”
 
    หลังยุคสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน หนังสือ “ทางสายกลาง”ได้เป็นหนังสือแบบเรียนและเป็นหนังสือที่ทางราชการกำหนดให้ใช้ในการสอบขุนนางกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ คุณค่าที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของ “ทางสายกลาง” ก็ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่มากมายในการดำรงชีวิต อาทิเช่น
 
    ทางสายกลางบอกเราว่า ต้องใช้ความปรองดองเป็นที่ตั้งและรักษาความเป็นตัวของตัวเอง ยืนหยัดในหลักการและลดละทิฐิ เป็นคนคมในฝักและไม่สับสนเมื่อประสบปัญหา เคารพประเพณีที่สืบต่อกันมาและรู้จักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง มุ่งแสวงหาความก้าวหน้าอย่างกระตือรือร้น และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ต้องรู้จักพอ มีจิตใจที่สงบนิ่งเหมือนน้ำ และยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง
 
    ทางสายกลางดูเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่เป็นความขัดแย้งที่เป็นเอกภาพของสิ่งตรงข้าม ดูเหมือนไม่ใช่ซ้ายและไม่ใช่ขวา แต่ก็คือซ้ายกับขวา ถึงแม้ว่าในสภาพความเป็นจริง ขอบเขตของความเป็นกลางเป็นสิ่งที่ยากจะบรรลุถึง แต่ทุกคนก็ควรพยายามอย่างเต็มที่ สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยเพียบพร้อมเช่นนี้ จะเป็นผู้ที่มีความเมตตาเมื่อถึงคราวควรเมตตา เมื่อตกอยู่ในสถานะลำบากจะมีความหนักแน่นมั่นคง ในยามปกติไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคใดๆ ถึงคราวที่จะต้องแสดงฝีมือก็จะไม่รีรอ พวกเขาใช้ความใจกว้างรู้จักให้อภัยและความเมตตาระคนกันไป ดูแล้วเสมือนเป็นคนที่ไม่มีอุปนิสัยเป็นของตัวเอง แต่ที่แท้จริงแล้ว นี่ก็คืออุปนิสัยอย่างหนึ่งในบรรดาอุปนิสัยทั้งหลาย
 
    ทางสายกลางเป็นทั้งโลกทรรศน์และเป็นมรรควิธี ยิ่งเป็นสติปัญญาพื้นฐานของความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต ตั้งแต่การฝึกจิตของตนเองถึงการปฏิบัติตัวต่อสังคม จนกระทั่งความเป็นระเบียบของสังคมก็ล้วนไม่พ้นไปจากทางสายกลาง หากคนในโลกล้วนสามารถปฏิบัติตามหลักการนี้ ไม่ว่าเรื่องราวใดๆ ก็ตาม ล้วนแสวงหาความกลมกลืน รักษาความสมดุลย์ ยึดมั่นการปฏิบัติตนและปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม เช่นนี้แล้วจึงสามารถทำให้สิ่งต่างๆ ราบรื่น จะก้าวไปทางไหนก็ไม่มีวันพ่ายแพ้

Related Books